ชนเผ่าพื้นเมืองมอแกน
กลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองมอแกน เป็นหนึ่งในสามกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกคนในพื้นที่ภาคใต้เรียกรวมกันว่า "ชาวเล" ซึ่งหมายถึงผู้คนที่อยู่อาศัยแถบชายฝั่งทะเล หรือตามเกาะแก่งต่างๆ และมีวิถีชีวิตผูกพันกับทะเลย ชาวเลจึงเป็นผู้มีประวัติศาสตร์การดำรงชีวิตและทำกินอยู่บนท้องทะเลมายาวนาน ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของการใช้ชีวิตอยู่ในเรือ จึงเป็นองค์ความรู้ที่ทรงคุณค่า
มอแกน มาจากคำว่า "ละมอ" ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า "จมน้ำ" มอแกนใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายบนเรือ "ก่าบาง" ล่องลอยไปตามท้องทะเล แวะพักตามเกาะแก่งต่างๆ เพื่อหลบลมมรสุม สร้างกระท่อมพักชั่วคราวตามชายหาดในอ่าวที่สามารถหลบคลื่นลม และมีแหล่งน้ำจืด ในยุคสมัยก่อนมอแกนจึงไม่มีบ้านเป็นหลักแหล่งบนผืนแผ่นดินใหญ่ ท้องทะเลอันดามันอันกว้างใหญ่จึงเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมอแกน จนกระทั่งหลังสึนามิ มอแกนต้องปรับตัวให้มีถิ่นฐานอยู่บนบก พวกเขาจึงกลายเป็นชายขอบในสังคมใหญ่เพราะไร้สิทธิ ไร้ที่ดิน ไร้โอกาสใดๆ
ถิ่นกำเนิดมอแกน
อันดามัน คือ ชีวิตของมอแกน มอแกนเป็น "อ่านาดอันดามัน" หรือ ลูกของทะเลอันดามัน มอแกนจึงผูกพันกับทะเลอันดามันมายาวนาน ตั้งแต่บรรพบุรุษหลายต่อหลายรุ่น ซึ่งปรากฎหลักฐานในงานเขียนบันทึกระหว่างเดินทางของนักเดินเรือชาวยุโรปที่ได้พบกับชนเผ่าที่ใช้ชีวิตอยู่ในท้องทะเลได้อย่างน่าทึ่ง อาทิเช่น Moken : sea-gypsies of the Andaman Sea : post-war chronicles
มอแกน จึงเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองในแถบทะเลอันดามัน มีชีวิตที่ผูกพันกับทะเลอันดามัน การเดินเรือ "ก่าบาง" ซึ่งเป็นเรือที่ขุดจากไม้ตะเคียนหรือขนุนป่าเสริมกราบด้วยไม้ระกำไม้ไผ่ทำเป็นส่วนของพื้นเรือ โครงกระท่อมในเรือและใช้ใบค้อทำหลังคา
ในสมัยก่อนชาวเลมอแกนมีจำนวนประชากรไม่มากและการเดินทางไม่ได้ถูกจำกัดด้วยพรมแดนรัฐชาติ ช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ฤดูแล้ง) คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน ชาวมอแกนจะใช้เรือก่าบางเดินทางไปตามเกาะต่างๆ เพื่อทำมาหากิน ส่วนในฤดูฝนช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือในช่วงเดือนพฤษภาคมไปถึงเดือนพฤศจิกายน มอแกนจะสร้างบ้านเรือนในบริเวณอ่าวที่เป็นจุดหลบลม
การเลือกสถานที่พักพิงหรือการสร้างกระท่อมชั่วคราวในช่วงฤดูฝน สะท้อนให้เห็นถึงความรู้และประสบการณ์ของมอแกนที่สืบทอดกันมาด้านความปลอดภัย โดยจะพิจารณาพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นชายหาดในอ่าวที่สามารถหลบคลื่นลมได้ อ่าวส่วนใหญ่จะอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะ เป็นบริเวณที่มีแหล่งน้ำจืด เป็นธารน้ำจากป่า น้ำซับ น้ำซึมหรือน้ำผุดบริเวณไม่ไกลจากชายหาด และเป็นบริเวณที่มีความลาดชันพอเหมาะ สามารถจอดเรือและแล่นเรือเข้า-ออกได้สะดวก
ชุมชนชาวมอแกนในประเทศไทยมี 5 แห่ง และมีมอแกนกระจายตัวไปอยู่ตามชุมชนชาวเลอื่นๆ แต่ไม่ได้อยู่เป็นกลุ่มใหญ่เหมือน 5 ชุมชนที่เกาะเหลา เกาะพยาม และเกาะช้าง จังหวัดระนอง หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา และหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต