สถานการณ์และปัญหา
ความเปราะบางของชาวมอแกน
ความเปราะบาง เป็นตัวชี้วัดระดับผลกระทบที่คนหรือกลุ่มคนได้รับจากการเปลี่ยนแปลง และคนกลุ่มนี้ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ เป็นเหตุให้กลายเป็นกลุ่มชายขอบ ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยจึงเป็นกลุ่มคนที่มีความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในรูปแบบต่างๆ อย่างเป็นพลวัตร ปัจจุบันจึงมีชนเผ่าพื้นเมืองที่ไม่สามารถปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น และพวกเขาได้กลายเป็นคนชายขอบของสังคมไทย และ "มอแกน" คือกลุ่มประชากรเปราะบางในประเทศไทย
มอแกน คือ ชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมชาติไทย มีวิถีชีวิตผูกพันกับผืนทะเลมายาวนาน จึงเป็น 1 ใน 3 ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวชาวเลในประเทศไทยที่สังคมส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มรู้จักตัวตนของพวกเขาหลังเหตุการณ์สึนามิปลายปี พ.ศ. 2547 ว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่เดินทางทำมาหากินตามชายฝั่งทะเลและเกาะต่างๆ ในทะเลอันดามันที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายศตวรรษ ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นหรือการปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมในถิ่นที่อยู่อาศัยและทำกิน หรือเป็นการเอาชีวิตรอดของบรรพบุรุษจากการหนีกลุ่มคนที่มีอำนาจและแสวงหาผลประโยชน์บีบบังคับให้ใช้พวกเขาต้องใช้แรงงานเยี่ยงทาส การออกเดินทางไปใช้ชีวิตร่อนเร่ลอยเรือกลางทะเล ไม่ยึดถือครอบครองผืนแผ่นดินเป็นของตนเองจึงกลายเป็นกลุ่มคนเร่ร่อน ไร้สัญชาติ ไร้สิทธิครอบครองในที่ดินเมื่อรูปแบบสังคมเปลี่ยนแปลง “โลกของคนชายขอบที่เปราะบางได้ติดตรึงอยู่กับชนเผ่าพื้นเมืองมอแกน” อยู่ในปัจจุบัน
ปัญหาสัญชาติและการขาดสิทธิพื้นฐาน
ชาวมอแกนส่วนน้อยถือบัตรประชาชนที่แสดงถึงการมีสัญชาติไทยแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีบัตร และบางส่วนถือบัตรหัว 0 หรือบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทำให้ชาวมอแกนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำกัด การเดินทางออกนอกพื้นที่ และการเป็นแรงงานในเรือประมง ฯลฯ
ปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย
ชาวมอแกน ส่วนใหญ่ที่อยู่ตามเกาะต่างๆ ในจังหวัดระนอง และพัทลุง ยังคงอยู่ในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์การถือครองที่ดิน ผืนดินที่ตั้งบ้านเรือนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ของรัฐ และอยู่ในพื้นที่ของเอกชนบางส่วน
การอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ จึงเป็นข้อจำกัดต่อการทำมาหากินและทำประมงได้ตามวิถีภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาวมอแกนด้วยเช่นกัน