มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

เรือก่าบาง

เป็นเรือไม้ขุดเสริมกราบด้วยไม้ระกำ มีหลังคาทำด้วยใบเตยหนาม ใช้ใบเรือและใช้แจว หากมีลม ชาวมอแกนจะกางใบเรือที่ทำจากใบเตยหนาม แล่นไปตามความเร็วลม ก่าบางเปรียบเสมือนบ้านที่มีสิ่งจำเป็นต่างๆ ตั้งแต่เครื่องมือทำมาหากิน ข้าวของเครื่องใช้และเสื้อผ้า

ปัจจุบัน เรือก่าบางของชาวมอแกนได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นเรือที่เสริมกราบเรือด้วยไม้กระดานเพราะมีอายุกาใช้งานที่ยาวกว่า และต้องติดเครื่องยนต์เพื่อให้เรือสามารถแล่นไปได้ ก่าบางที่มีรูปทรงแบบดั้งเดิมของชาวมอแกนในประเทศไทยเหลือเพียงลำเดียว อยู่ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เนื่องด้วยข้อจำกัดในเรื่องการตัดไม้มาทำเรือ จึงเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ชุมชนมอแกนไม่สามารถสืบสานภูมิปัญญาในการทำเรือก่าบางแบบดั้งเดิมได้อีก ความรู้ในการส้รางเรือก่าบางจึงเริ่มสูญหายไป

ความเชื่อ

มอแกนมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็น “วิญญาณบรรพบุรุษ” และ “วิญญาณในธรรมชาติ” และความเชื่อเหล่านี้หลอมรวมและยึดโยงชาวมอแกนในชุมชนไว้ด้วยกัน โดยมี “ออลางปูตี” หรือ ผู้นำทางจิตวิญญาณที่เป็นคนเข้าทรงติดต่อสื่อสารกับวิญญาณเหล่านั้น และมีพิธีกรรมเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องคุ้มครองชุมชน ในพิธีที่สำคัญคือการฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษในเดือน 5 ทางจันทรคติ มีการตัดไม้มาแกะทำเสาเพื่อเป็นตัวแทนของวิญญาณบรรพบุรุษหญิง-ชาย หรือที่เรียกว่า “หล่อโบง

ตำนาน "ละบูน"

“ละบูน” หรือคลื่นเจ็ดชั้น เป็นความรู้ของมอแกนสมัยก่อนที่ถูกถ่ายทอดมาจนกลายเป็นตำนาน ที่ช่วยชีวิตมอแกนให้รอดพ้นจากการถูกกลืนกินของคลื่นยักษ์สึนามิ เป็นสิ่งเตือนใจเกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต เมื่อมอแกนอาวุโสในชุมชนเห็นการลดลงของระดับน้ำทะเลผิดปกติ และเห็นคลื่นขนาดใหญ่กำลังมา จึงเตือนให้ลูกหลานและคนในชุมชนปีนขึ้นไปหลบบนพื้นที่สูง สัญชาตญาณของคนที่อยู่ในทะเลก็รีบบังคับเรือให้ห่างจากฝั่งเพื่อลดการกระแทกของคลื่น คลื่นยักษ์ที่ถาโถมเข้ามา ทำให้ชุมชนได้รับความเสียหาย บ้านเรือนพัง ข้าวของเสียหาย ฯลฯ แต่ไม่มีมอแกนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ กลับเป็นผู้ที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวและคนอื่นๆ รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นและหาที่หลบภัยได้ทัน