การกระจายตัวชุมชนชาวมอแกน

ท้องทะเลอันดามัน คือ บ้านของมอแกน ชาวมอแกนเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในท้องทะเล ความผูกพันกับทะเลจึงทำให้พวกเขามีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือ การว่ายน้ำ การดำนำ เพื่อทำมาหากินจากทรัพยากรทางทะเล การใช้ชีวิตบนบกของพวกเขาจึงเป็นการหยุดพักเพื่อทำเครื่องมือทำมาหากินที่ต้องอาศัยทรัพยากรจากป่าตามชายฝั่งทะเลหรือเกาะต่างๆ โดยเฉพาะการขุดเรือ "ก่าบาง" ของพวกเขา ที่ต้องใช้เวลาในการตัดต้นไม้ตะเคียนหรือต้นขนุนขนาดใหญ่ด้วยขวานและสิ่ว ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะขุดเรือได้สำเร็จ

ช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ คือ ช่วงเวลาที่มอแกนจะใช้เวลาสะสมอาหารจากป่า ประเภทหัวมัน หัวกลอย หน่อไม้ และพืชอาหารและสมุนไพรจากป่า รวมถึงการเสาะหาไม้ตะเคียน ไม้ขนุนป่าที่สามารถล้มขุดเป็นเรือ การหาไม้ไผ่ ใบคล้อ ใบเตยหนามมาทำกระท่อม และเครื่องเรือนต่างๆ ล้วนแต่ต้องอาศัยความชำนาญและการบวงสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในป่า มอแกนถือว่าทุกสิ่งล้วนมีชีวิตมีคความสามารถในการรับรู้ การโค่นล้มต้นไม้มาทำเรือจึงต้องบอกกล่าวและได้รับความยินยอมก่อนเสมอ

ชุมชนชาวมอแกน

ปัจจุบัน ชาวมอแกนอยู่รวมกันเป็นชุมชน เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ที่สำคัญ คือ ปัจจัยด้านแนวเขตพรมแดนประเทศ การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะต่างๆ รวมถึงการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองของรัฐ จึงทำให้ชาวมอแกนรวมกลุ่มตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชน

ชุมชนชาวมอแกน กระจายตัวอยู่ตามเกาะต่างๆ ของทะเลฝั่งตะวันตกของประเทศไทย หรือ ทะเลอันดามัน ปัจจุบันมีชุมชนชาวมอแกนอยู่ใน 5 ชุมชนหลัก และมีชาวมอแกนอยู่ร่วมกับชาวเลกลุ่มอี่นในชุมชนชาวเลราไวย์ จังหวัดภูเก็ตอีกจำนวนหนึ่ง ชุมชนชาวมอแกนทั้ง 5 ชุมชน ประกอบด้วย

  • ชุมชนมอแกนเกาะเหลา เป็นหย่อมบ้านของบ้านเกาะเหลาหมู่ที่ 6 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

  • ชุมชนมอแกนเกาะช้าง เป็นหย่อมบ้านของบ้านเกาะช้างหมู่ที่ 2 ตำบลเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

  • ชุมชนมอแกนเกาะพยาม เป็นหย่อมบ้านของบ้านเกาะพยามหมู่ที่ 1 ตำบลเกาะพยามอำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

  • ชุมชนมอแกนเกาะสุรินทร์ เป็นหย่อมบ้านของบ้านปากจกหมู่ที่ 4 ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

  • ชุมชนมอแกนบ้านน้ำเค็ม เป็นหย่อมบ้านของบ้านน้ำเค็มหมู่ที่ 2 ตำบลปางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา